วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2559

"สำนวน สุภาษิต คำพังเพย" ความเหมือนที่แตกต่าง


สำนวน สุภาษิต คำพังเพย 
     สำนวนไทย สุภาษิตไทยและคำพังเพยนั้น เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆขึ้น ทั้งทางดีและทางร้าย จนมีการนำสิ่งที่เกิดขึ้นมาเรียบเรียงถ้อยคำใหม่ในเชิงสั่งสอนหรือเปรียบเทียบ จนเกิดเป็นคำสำนวน สุภาษิตคำพังเพย และ สุภาษิตสำนวนไทยในที่สุด ซึ่งเป็นนิยมใช้กันมาอย่างยาวนานและแพร่หลาย นับเป็นอีกหนึ่งในวัฒนธรรมที่น่าภาคภูมิใจของไทยเรา

     สำนวน สุภาษิต คำพังเพยนั้น ดูเผินๆจะคล้ายกันมากจนแยกกันแทบไม่ออก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วทั้ง 3 คำมีความแตกต่างกันอยู่ โดยที่สำนวนไทยจะเป็นการพูดเชิงเปรียบเทียบและมักจะไม่แปลความหมายตรงๆ เช่น กินน้ำใต้ศอก ส่วนสุภาษิตจะเป็นเชิงสั่งสอนหรือให้ข้อคิด เช่น หัวล้านได้หวี วานรได้แก้ว และสุดท้ายคำพังเพยจะเป็นลักษณะของการเปรียบเทียบของสองสิ่ง เช่น จับปลาสองมือ เป็นต้น

ตัวอย่าง
กิ้งก่าได้ทอง หมายถึง คนที่ได้ลาภยศแล้วทะนงตนลืมฐานะเดิม

กระต่ายหมายจันทร์ หมายถึง ผู้ชายหมายปองผู้หญิงที่มีฐานะดีกว่า

กาในฝูงหงส์ หมายถึง ผู้ที่ต่ำต้อยไม่มีเกียรติ อยู่ท่ามกลางเจ้าขุนมูลนายสูงศักดิ์

ขวานผ่าซาก หมายถึง โผงผางไม่เกรงใจใคร

-----------------------------------------------------







รู้จัก "คำราชาศัพท์" กันหรือเปล่า


   

    คำราชาศัพท์ คือ คำสุภาพที่ใช้ให้เหมาะสมกับฐานะของบุคคลต่างๆ คำราชาศัพท์เป็นการกำหนดคำและภาษาที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมอันดีงามของไทย แม้คำราชาศัพท์จะมีโอกาสใช้ในชีวิตน้อย แต่เป็นสิ่งที่แสดงถึงความละเอียดอ่อนของภาษาไทยที่มีคำหลายรูปหลายเสียงในความหมายเดียวกัน และเป็น ลักษณะพิเศษของภาษาไทย โดยเฉพาะ ซึ่งใช้กับบุคคลกลุ่มต่างๆ ดังต่อไปนี้
  1. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
  2. พระบรมวงศานุวงศ์
  3. พระภิกษุสงฆ์ สามเณร
  4. ขุนนาง ข้าราชการ
  5. สุภาพชน
     บุคคลในกลุ่มที่ 1 และ 2 จะใช้ราชาศัพท์ชุดเดียวกัน เช่นเดียวกับบุคคลในกลุ่มที่ 4 และ 5 ก็ใช้คำราชาศัพท์ในชุดเดียวกันและเป็นคำราชาศัพท์ที่เราใช้อยู่เป็นประจำในสังคมมนุษย์เราถือว่าการให้เกียรติแก่บุคคลที่เป็นหัวหน้าชุมชน หรือผู้ที่ชุมชนเคารพนับถือนั้น เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของมนุษยชาติ ทุกชาติ ทุกภาษา ต่างยกย่องให้เกียรติแก่ผู้เป็นประมุขของชุมชนด้วยกันทั้งสิ้น 
     ดังนั้นแทบทุกชาติ ทุกภาษาจึงต่างก็มี คำสุภาพ สำหรับใช้กับประมุขหรือผู้ที่เขาเคารพนับถือ จะมากน้อยย่อมสุดแต่ขนบประเพณีของชาติ และจิตใจของประชาชนในชาติว่ามีความเคารพในผู้เป็นประมุขเพียงใด เมืองไทยเราก็มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของชาติ และพระประมุขของเรา แต่ละพระองค์ทรงพระปรีชาสามารถ จึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความ เคารพสักการะอย่างสูงสุดและมีความจงรกภักดีอย่างแนบแน่นตลอดมานับตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน
ความเป็นมาของคำราชาศัพท์
     ในแหล่งอ้างอิงบางฉบับได้ให้ข้อสันนิษฐานไว้ว่า คนไทยเริ่มใช้คำราชาศัพท์ในรัชสมัยพระธรรมราชาลิไท พระร่วงองค์ที่ 5 แห่งสุโขทัย เพราะศิลาจารึกต่างในแผ่นดินนั้น รวมทั้งบทพระราชนิพนธ์ของท่าน คือ ไตรภูมิพระร่วง ปรากฏว่ามีคำราชาศัพท์อยู่หลายคำ เช่น ราชอาสน์ พระสหาย สมเด็จ ราชกุมาร เสด็จ บังคม เสวยราชย์ ราชาภิเศก เป็นต้น         
     บางท่านกล่าวว่า คำราชาศัพท์นั้นเริ่มใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะพระปฐมบรมกษัตริย์ที่ทรงสร้างกรุงศรีอยุธยา ทรงนิยมเขมร ถึงกับเอาลัทธิและภาษาเขมรมาใช้ เช่น เอาคำว่า "สมเด็จ" ซึ่งเขมรใช้เป็นคำนำพระนามพระเจ้าแผ่นดินมาเป็นคำนำพระนามของพระองค์ และใช้ภาษาเขมรเป็นราชาศัพท์ 
     และจากหลักฐานที่พบข้อความในศิลาจารึกวัดศรีชุม กล่าวถึงเรื่องตั้งราชวงศ์และเมืองสุโขทัยตอนหนึ่งมีความว่า "พ่อขุนผาเมืองจึงอภิเสกพ่ขุนบางกลางหาวใหเมืองสุโขไท" คำว่า "อภิเษก" นี้เป็นภาษาสันสกฤต ไทยเรารับมาใช้สำหรับพิธีการแต่งตั้งตำแหน่งชั้นสูง จึงอยู่ในประเภทราชาศัพท์ และพิธีนี้มีมาตั้งแต่ราชวงศ์สุโขทัย จึงน่าสงสัยว่าในสมัยนั้นอาณาจักรสุโขทัยนี้ ก็คงจะมีการใช้คำราชาศัพท์บางคำกันแล้ว

ภาษาที่ใช้คำราชาศัพท์
     คำราชาศัพท์มิได้มีที่มาจากภาษาไทยภาษาเดียว ด้วยว่าการใช้คำราชาศัพท์เป็นการใช้ด้วยตั้งใจ จะทำให้เกิดความรู้สึกยกย่อง เทิดทูน จึงได้เจาะจงรับคำในภาษาต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทยมาใช้เป็นพิเศษ โดยเฉพาะภาษาที่นับถือกันว่าเป็นภาษาสูงและศักดิ์สิทธิ์ คำราชาศัพท์ส่วนใหญ่จึงมีที่มาจากภาษาต่างประเทศมากมาย อย่างไรก็ตามก็ยังมีคำราชาศัพท์จำนวนไม่น้อยที่ใช้คำภาษาไทยแท้ ซึ่งเป็นคำสามัญยกระดับขึ้นเป็นคำราชาศัพท์ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าคำราชาศัพท์นั้นมีที่มาจากทั้งภาษาต่างประเทศและภาษาไทยของเราเอง ดังจะได้พิจารณาต่อไปนี้จากภาษาต่างประเทศ         
     ตั้งแต่สมัยโบราณมา คนไทยได้ติดต่อกับคนต่างชาติต่างภาษามากมาย ในบรรดาภาษาทั้งหลายเหล่านั้น มีบางภาษาที่เรายกย่องกันว่าเป็นภาษาสูงและศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งก็ได้แก่ ภาษาเขมร บาลี และสันกฤต ภาษาอื่นๆก็นำมาใช้เป็นคำราชาศัพท์บ้าง แต่ก็ไม่มากและสังเกตได้ชัดเจนเท่า 3 ภาษาที่กล่าวแล้ว

ราชาศัพท์สำหรับพระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
     - คำนามที่เป็นชื่อสิ่งของสำคัญที่ควรยกย่อง มีคำเติมหน้า ได้แก่ พระบรมมหาราช พระบรมมหา พระบรมราช พระบรม พระอัคราช พระอัคร และพระมหา เช่น พระบรมมหาราชวัง พระบรมมหาชนกพระบรมราชชนนี พระบรมราชวงศ์ พระบรมอัฐิ พระบรมโอรสาธิราช พระอัครชายา พระมหาปราสาท พระมหาเศวตฉัตร เป็นต้น
     - คำนามเป็นชื่อสิ่งสำคัญรองลงมา นำหน้าด้วยคำ “พระราช” เช่น พระราชวังพระราชวงศ์ พระราชทรัพย์ พระราชลัญจกร เป็นต้น
     - คำนามเป็นชื่อของสิ่งสามัญทั่วไปที่ไม่ถือว่าสำคัญส่วนใหญ่เป็นคำบาลีสันสกฤต เขมร และคำไทยเก่า แต่บางคำก็เป็นคำไทยธรรมดานำหน้าด้วยคำ “พระ” เช่น พระกร พระบาทพระโรค พระฉาย พระแท่น พระเคราะห์ เป็นต้น คำนามใดที่เป็นคำประสม มีคำ “พระ” ประกอบอยู่แล้ว ห้ามใช้คำ “พระ” นำหน้าซ้อนอีก เช่น พานพระศรี (พานหมาก) ขันพระสาคร (ขันน้ำ) เป็นต้น
     - คำนามที่เป็นชื่อสิ่งไม่สำคัญและคำนั้นมักเป็นคำไทย นำหน้าด้วยคำว่า “ต้น” เช่น ม้าต้น ช้างต้น เรือนต้น และนำหน้าด้วย “หลวง” เช่น ลูกหลวง หลานหลวง รถหลวง เรือหลวง สวนหลวง ส่วน “หลวง” ที่แปลว่าใหญ่ ไม่จัดว่าเป็นราชาศัพท์ เช่นภรรยาหลวง เขาหลวง ทะเลหลวง เป็นต้น นอกจากคำว่า “ต้น” และ “หลวง” ประกอบท้ายคำแล้ว บางคำยังประกอบคำอื่นๆ อีก เช่น รถพระที่นั่ง เรือพระที่นั่ง รถทรง เรือทรง ม้าทรง ช้างทรง น้ำสรง ห้องสรง ของเสวย โต๊ะเสวย ห้องบรรทม เป็นต้น

ราชาศัพท์สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์
     - ใช้ พระราช นำหน้า เช่น พระราชเสาวนีย์ พระราชประวัติ พระราชดำรัส พระราชกุศล พระราโชวาท พระราโชบาย เป็นต้น
     - ใช้ พระ นำหน้า เช่น พระเศียร พระองค์ พระหัตถ์ พระทัย พระบาท เว้นแต่หม่อมเจ้าไม่ใช้ “พระ” นำหน้า ใช้ว่า เศียร องค์ หัตถ์ หทัย บาท เป็นต้น
     - คำนามราชาศัพท์สำหรับเจ้านายอยู่ในตัว ไม่ต้องใช้คำนำหน้าหรือคำต่อท้าย เช่น วัง ตำหนัก ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น



คำราชาศัพท์ที่ใช้เป็นคำกริยา
     เป็นคำแสดงอาการ แบ่งเป็น 4 ชนิด
     - กริยาที่เป็นราชาศัพท์ในตัวเอง เช่น ตรัส(พูด) เสด็จ(ไป) กริ้ว(โกรธ) ประชวร (ป่วย) ประสูติ(เกิด) ทูล(บอก) เสวย(กิน) ถวาย(ให้) บรรทม(นอน) ประทับ(อยู่) โปรด(รัก,ชอบ) ทรงม้า(ขี่ม้า) ทรงดนตรี(เล่นดนตรี)
     - ใช้ทรงนำหน้ากริยาธรรมดา เช่น ทรงฟัง ทรงยืน ทรงยินดี
     - ห้ามใช้ทรงนำหน้ากริยาที่มีนามราชาศัพท์ เช่น มีพระราชดำริ(ห้ามใช้ทรงมีพระราชดำริ) มีพระบรมราชโองการ (ห้ามใช้ทรงมีพระบรมราชโองการ)
     - ใช้เสด็จนำหน้ากริยาบางคำ เช่นเสด็จกลับ เสด็จขึ้น เสด็จลง

วิธีใช้คำประกอบหน้าคำราชาศัพท์ 
พระบรมราช ใช้ประกอบหน้าคำเพื่อให้เห็นว่าสำคัญยิ่ง ในกรณีที่ต้องการเชิดชูพระราชอำนาจ
พระบรม ใช้ประกอบหน้าคำเพื่อให้เห็นว่าสำคัญยิ่ง ในกรณีที่ต้องการเชิดชูพระราชอิสริยยศ
พระราช ใช้ประกอบหน้าคำเพื่อให้เห็นว่าสำคัญรองมาจาก พระบรม เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นสิ่งเฉพาะขององค์พระเจ้าแผ่นดิน

วิธีใช้คำประกอบหลังคำราชาศัพท์ 
ทรง ใช้ประกอบหลังคำนาม เพื่อเป็นคำนามราชาศัพท์
ต้น ใช้ประกอบหลังคำนามสำคัญทั่วไป เพื่อทำให้เป็นคำนามราชาศัพท์ มักใช้กับสิ่งที่โปรดเป็นพิเศษ
หลวง ใช้ประกอบหลังคำนามสามัญทั่วไป เพื่อให้เป็นนามราชาศัพท์
พระที่นั่ง ใช้ประกอบหลังคำนามสามัญ เพื่อให้เป็นนามราชาศัพท์ มีความหมายว่าเป็นที่ประทับส่วนพระองค์

ราชาศัพท์สำหรับพระภิกษุสงฆ์        
     ไทยเรามีคำพูดที่ใช้กับพระภิกษุโดยเฉพาะอยู่ประเภทหนึ่งบางทีก็เป็นคำที่พระภิกษุเป็นผู้ใช้เอง ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่จะรู้จักกันหมดแล้ว เช่น คำว่า อาตมาภาพ หรืออาตมา มีความหมายเท่ากับ ฉัน บางคำก็ทั้งท่านใช้เองและเราใช้กับท่าน เช่น คำว่า ฉัน หมายถึง กิน เป็นต้น การพูดกับพระภิกษุต้องมีสัมมาคารวะ สำรวม ไม่ใช้ถ้อยคำที่เป็นไปในทำนองพูดเล่นหรือพูดพล่อยๆ ซึ่งจะเป็นการขาดความเคารพไปสำหรับพระภิกษุ เราจำเป็นต้องทราบราชทินนาม เรียกว่า พระภิกษุผู้ทรงสมณศักดิ์ ของพระภิกษุเรียงลำดับได้ดังนี้ เพื่อที่จะได้ใช้ได้อย่างถูกต้อง

  1. สมเด็จพระสังฆราช 
  2. สมเด็จพระราชาคณะ หรือ ชั้นสุพรรณปัฎ คือ พระภิกษุที่มีราชทินนามนำหน้าด้วยคำว่า "สมเด็จพระ" 
  3. พระราชาคณะชั้นรอง 
  4. พระราชาคณะชั้นธรรม พระราชาคณะชั้นนี้มักมีคำว่า "ธรรม" นำหน้า 
  5. พระราชาคณะชั้นเทพ พระราชาคณะชั้นนี้มักมีคำว่า "เทพ" นำหน้า 
  6. พระราชาคณะชั้นราช พระราชาคณะชั้นนี้มักมีคำว่า "ราช" นำหน้า
  7. พระราชาคณะชั้นสามัญ 
  8. พระครูสัญญาบัติ , พระครูชั้นประทวน , พระครูฐานานุกรม 
  9. พระเปรียญตั้งแต่ 3-9

     การใช้คำพูดกับพระภิกษุทรงสมณศักดิ์ ที่ผิดกันมากคือ ชั้นสมเด็จพระราชาคณะเห็นจะเป็นเพราะมีคำว่า "สมเด็จ" นำหน้าจึงเข้าใจว่าต้องใช้คำราชาศัพท์ ซึ่งผิด ความจริงแล้ว พระภิกษุทรงสมณศักดิ์ที่ต้องใช้ราชาศัพท์มีเฉพาะเพียงสมเด็จพระสังฆราชเท่านั้น เว้นแต่พระภิกษุรูปนั้นๆ ท่านจะมีฐานันดรศักดิ์ทางพระราชวงศ์อยู่แล้ว

คำราชาศัพท์ที่ควรทราบ
พระภิกษุที่เป็นพระราชวงศ์ ใช้ราชาศัพท์ตามลำดับชั้นแห่งพระราชวงศ์ สำหรับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า(สมเด็จพระสังฆราชที่เป็นพระราชวงศ์) ใช้ดังนี้
          คำขึ้นต้น ใช้ว่า ขอประทานกราบทูล (กล่าวพระนามเต็ม)
          สรรพนามแทนผู้พูด ใช้ว่า ข้าพระพุทธเจ้า
          สรรพนามแทนพระองค์ท่าน ใช้ว่า ใต้ฝ่าพระบาท
          คำลงท้าย ใช้ว่า ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ใช้ราชาศัพท์เสมอพระเจ้าวรวงศ์เธอ (ที่มิได้ทรงกรม) เช่น
          คำขึ้นต้น ใช้ว่า กราบทูล (กล่าวพระนามเต็ม)
          สรรพนามแทนผู้พูด ใช้ว่า เกล้ากระหม่อม (สำหรับชาย), เกล้ากระหม่อมฉัน(สำหรับหญิง)
          สรรพนามแทนพระองค์ท่าน ใช้ว่า ฝ่าพระบาท
          คำลงท้าย ใช้ว่า ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด



------------------------------------------------

อะไรเอ่ย..21 รูป 32 เสียง ?

สระ
     หมายถึง เครื่องหมายใช้แทนเสียงที่เปล่งออกมา ตามหลักภาษา ถือว่าพยัญชนะจำเป็นต้องอาศัยสระจึงจะออกเสียงได้

 รูปสระ 
     รูปสระในภาษาไทยมี 21 รูป ซึ่งรูปสระเหล่านี้จะนำไปประกอบเป็นรูปสระที่ใช้แทนเสียงสระ

1. ะ เรียกว่า วิสรรชนีย์ หรือ นมนางทั้งคู่
2.   ั เรียกว่า ไม้หันอากาศ, หางกังหัน หรือ ไม้ผัด
3.   ็ เรียกว่า ไม้ไต่คู้ หรือ ไม้ตายคู้
4. า เรียกว่า ลากข้าง
5.   ิ เรียกว่า พินทุ์อิ หรือ พินทุอิ
6.   ่ เรียกว่า ฝนทอง
7.   ํ เรียกว่า นิคหิต, นฤคหิต หรือ หยาดน้ำค้าง
8. " เรียกว่า ฟันหนู หรือ มูสิกทันต์
9.   ุ เรียกว่า ตีนเหยียด หรือ ลากตีน
10.   ู เรียกว่า ตีนคู้
11. เ เรียกว่า ไม้หน้า
12. ใ เรียกว่า ไม้ม้วน
13. ไ เรียกว่า ไม้มลาย
14. โ เรียกว่า ไม้โอ
15. อ เรียกว่า ตัวออ
16. ย เรียกว่า ตัวยอ
17. ว เรียกว่า ตัววอ
18. ฤ เรียกว่า ตัวรึ
19. ฤๅ เรียกว่า ตัวรือ
20. ฦ เรียกว่า ตัวลึ (ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว)
21. ฦๅ เรียกว่า ตัวลือ (ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว)

เสียงสระ
     สระ 21 รูปสามารถเข้ามาประกอบกันเป็นเสียงสระได้ 32 เสียง โดยสะกดด้วยรูปสระพื้นฐานหนึ่งตัวหรือหลายตัวร่วมกัน ดังนี้
     เมื่อเวลาออกเสียงสระ เช่น อะ อา เอะ เอ เอียะ เอีย จะออกเสียงแตกต่างกัน บางตัวออกเสียงสั้น บางตัวออกเสียงยาว จึงแบ่งสระตามอัตราเสียงเป็น 2 จำพวก ได้แก่

สระเสียงสั้น หรือ รัสสระ ได้แก่ สระที่ออกเสียงสั้น คือ อะ อิ อึ อุ เอะ แอะ โอะ เอาะ เออะ เอียะ เอือะ อัวะ ฤ ฦ อำ ไอ ใอ เอา
สระเสียงยาว หรือ ทีฆสระ ได้แก่ สระที่ออกเสียงยาว คือ อา อี อื อู เอ แอ โอ ออ เออ เอีย เอือ อัว ฤๅ ฦๅ

     เสียงสระในภาษาไทยแบ่งตามฐานการออกเสียงออกเป็น 3 ชนิด คือ สระเดี่ยว สระประสม และสระเกิน ดังนี้
สระเดี่ยว หรือ สระแท้ คือ สระที่เกิดจากฐานเสียงเพียงฐานเดียว เปล่งเสียงออกมาเป็นเสียงเดียว ไม่มีเสียงอื่นประสม มีทั้งสิ้น 18 เสียง ได้แก่ อะ อา อิ อี อึ อื อุ อู เอะ เอ แอะ แอ เออะ เออ โอะ โอ เอาะ ออ
สระประสม หรือ สระเลื่อน คือ สระที่เกิดจากสระเดี่ยวสองเสียงมาประสมกัน เกิดการเลื่อนของลิ้นในระดับสูงลดลงสู่ระดับต่ำ มี 6 เสียงดังนี้
> เอียะ ประสมจากเสียงสระ อี กับ อะ 
> เอีย ประสมจากเสียงสระ อี กับ อา 
> เอือะ ประสมจากเสียงสระ อือ กับ อะ 
> เอือ ประสมจากเสียงสระ อือ กับ อา 
> อัวะ ประสมจากเสียงสระ อู กับ อะ 
> อัว ประสมจากเสียงสระ อู กับ อา 
สระเกิน คือ สระที่มีเสียงซ้ำกับสระเดี่ยว ต่างกันก็แต่ว่าสระเกินจะมีเสียงพยัญชนะประสมหรือสะกดอยู่ด้วย มี 8 เสียง ได้แก่
  • อำ ประสมจากเสียงสระ อะ และพยัญชนะ ม สะกด (อัม) เช่น ขำ บางครั้งออกเสียงยาว (อาม) เช่น น้ำ 
  • ใอ ประสมจากเสียงสระ อะ และพยัญชนะ ย สะกด (อัย) เช่น ใจ บางครั้งออกเสียงยาว (อาย) เช่น ใต้ 
  • ไอ ประสมจากเสียงสระ อะ และพยัญชนะ ย สะกด (อัย) เช่น ไหม้ บางครั้งออกเสียงยาว (อาย) เช่น ไม้ 
  • เอา ประสมจากเสียงสระ อะ และพยัญชนะ ว สะกด (เอา) เช่น เกา บางครั้งออกเสียงยาว (อาว) เช่น เก้า 
  • ฤ ประสมจากเสียงพยัญชนะ ร และสระ อึ (รึ) เช่น ฤกษ์ บางครั้งเปลี่ยนเสียงเป็น ริ เช่น กฤษณะ หรือ เรอ เช่นฤกษ์ 
  • ฤๅ ประสมจากเสียงพยัญชนะ ร และสระ อือ (รือ) 
  • ฦ ประสมจากเสียงพยัญชนะ ล และสระ อึ (ลึ) 
  • ฦๅ ประสมจากเสียงพยัญชนะ ล และสระ อือ (ลือ)
     บางตำราถือว่าภาษาไทยมี 21 เสียง ทั้งนี้ คือไม่รวมสระเกินทั้ง 8 เสียง เนื่องจากถือว่าเป็นพยางค์ ซึ่งมีหน่วยเสียงในตัวเองโดยสมบูรณ์อยู่แล้ว และไม่รวมสระประสมเสียงสั้นทั้ง 3 เสียง คือ เอียะ เอือะ อัวะ เนื่องจากมีที่ใช้ในภาษาไทยน้อยมาก และส่วนใหญ่จะเป็นคำเลียนเสียงซึ่งไม่ได้ใช้สื่อความหมายอื่น เช่น เพียะ เปรี๊ยะ ผัวะ เป็นต้น

การใช้สระ
     สระต่าง ๆ เมื่อประสมกับพยัญชนะต้น จะอยู่ในตำแหน่งที่แตกต่างกัน ได้แก่
  • ไม่ปรากฏรูปสระ ได้แก่ สระโอะเมื่อมีตัวสะกด (โ–ะ) เช่น คน รก จง 
  • ข้างหน้าพยัญชนต้น ได้แก่ สระเอ (เ-) สระแอ (แ-) สระโอ (โ-) สระใอ (ใ-) และสระไอ (ไ-) เช่น เก เซ เข แล แพ แก โต โพ โท ใกล้ ใคร ใหญ่ ไป ไซ ไส 
  • ข้างหลังพยัญชนะต้น ได้แก่ สระอะ (-ะ) สระอา (-า) สระออ (-อ) และ ร หัน (-รร) เช่น กะ จะ ปะ มา กา ตา ขอ รอ พอ 
  • ข้างบนพยัญชนะต้น ได้แก่ สระอือเมื่อมีตัวสะกด (-ื) สระอิ (-ิ) สระอี (-ี) สระอึ (-ึ) และไม้หันอากาศ (–ั) เช่น บิ สิ มิ ปี ดี มี หึ สึ หัน กัน ปัน 
  • ข้างล่างพยัญชนะต้น ได้แก่ สระอุ (-ุ) และสระอู (-ู) เช่น ผุ มุ ยุ ดู รู งู 
  • ข้างหน้าและข้างหลังพยัญชนะต้น ได้แก่ สระเอะ (เ-ะ) สระแอะ (แ-ะ) สระโอะ (โ-ะ) สระเอาะ (เ-าะ) สระเออะ (เ-อะ) สระเออ (เ-อ) และสระเอา (เ-า) เช่น เละ เตะ เกะ และ แพะ แกะ โปะ โละ เลอะ เถอะ เจอะ เจอ เธอ เรอ เกา เผา เรา 
  • ข้างหน้าและข้างบนพยัญชนะต้น ได้แก่ สระเอะเมื่อมีตัวสะกด (เ–็) สระแอะเมื่อมีตัวสะกด (แ–็) สระเออะและสระเออเมื่อมีตัวสะกด (เ–ิ) 
  • ข้างบนและข้างหลังพยัญชนะต้น ได้แก่ สระอืเมื่อไม่มีตัวสะกด (-ือ) สระอัวะ (-ัวะ) สระอัว (-ัว) สระอำ (-ำ) สระเอา (เ-า) และสระเอาะเมื่อมีตัวสะกด (–็อ) เช่น มือ ถือ ลือ ผัวะ ยัวะ ตัว รัว หัว รำ ทำ จำ 
  • ข้างหน้า ข้างบน และข้างหลังพยัญชนะต้น ได้แก่ สระเอียะ (เ-ียะ) สระเอีย (เ-ีย) สระเอือะ (เ-ือะ) และสระเอือ (เ-ือ) เช่น เผียะ เพียะ เกียะ เสีย เลีย เปีย เสือ เรือ เจือ
การเปลี่ยนรูปสระ
     สระเป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งของการประสมอักษร ซึ่งมีวิธีการใช้แตกต่างกัน ดังนี้
  1. สระคงรูป คือการเขียนสระตามรูปเดิมเมื่อประสมอักษร เช่น กะ เตะ โปะ เคาะ กอ กำ หัว เป็นต้น สระ -ะ, เ-ะ, โ-ะ … ในคำที่ยกมาไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปเมื่อประสมอักษร 
  2. สระเปลี่ยนรูป คือ สระที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปเมื่อประสมอักษร เช่น กับ ( ก + ะ + บ) เจ็บ (จ + เ-ะ + บ) เกิน (ก + เ-อ + น ) เป็นต้น 
  3. สระลดรูป คือ สระที่เขียนลดรูปเมื่อประสมอักษร เช่น งก (ง + โ-ะ + ก)
     สระบางรูปเมื่อมีพยัญชนะสะกดจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปสระ

-----------------------------------------------



วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559

วะวะวรรณยุกต์ไทย 4 รูป 5 เสียง



รูปและเสียงวรรณยุกต์
     วรรณยุกต์ หมายถึง เครื่องหมายที่แสดงเสียงสูง ต่ำ ของคำในภาษาไทย มี 4 รูป คือ

     เสียงวรรณยุกต์ไทยมี 5 เสียง ดังนี้ 
 
1. เสียงสามัญ อยู่ในระดับเสียงกึ่งสูง-กลาง เช่น กา คาง
2. เสียงเอก อยู่ในระดับเสียงกึ่งต่ำ-ต่ำ เช่น ก่า ข่า ปาก หมึก
3. เสียงโท อยู่ในระดับเสียงสูง-ต่ำ เช่น ก้า ข้า มาก
4. เสียงตรี อยู่ในระดับเสียงกึ่งสูง-สูง เช่น ก๊า ค้า ชัก
5. เสียงจัตวา อยู่ในระดับเสียงกึ่งต่ำ-ต่ำ-กึ่งสูง เช่น ก๋า ขา

     คำทุกคำในภาษาไทยมีเสียงวรรณยุกต์ บางคำต้องใช้รูปวรรณยุกต์ ซึ่งมี 4 เสียง คือ เอก โท ตรี จัตวา เช่น ก่า ก้า ก๊า ก๋า แต่บางคำไม่ใช้รูปวรรณยุกต์ ซึ่งมีครบ 5 เสียง คือ สามัญ เอก โท ตรี จัตวา เช่น คาง ขาก คาก คัก ขาง เสียงวรรณยุกต์ของคำที่ไม้ใช้รูปวรรณยุกต์อาจเรียกได้ว่า พื้นเสียง

การผันวรรณยุกต์
     การผันวรรณยุกต์ในภาษาไทยจำเป็นต้องมีหลักสำคัญในการ

     ไตรยางศ์
     พยัญชนะไทยมีเสียงวรรณยุกต์กำกับแตกต่างกัน จึงแบ่งพยัญชนะตามการออกเสียงเป็น 3 หมู่ หรือเป็นระบบไตรยางศ์ได้ดังนี้
  • อักษรกลาง เป็นพยัญชนะที่มีเสียงวรรณยุกต์เป็นเสียงสามัญ มี 9 ตัว ได้แก่ ก จ ฎ ฏ ด ต บ ป และ อ 
  • อักษรสูง เป็นพยัญชนะที่มีเสียงวรรณยุกต์เป็นเสียงจัตวา มี 11 ตัว ได้แก่ ข ฃ ฉ ฐ ถ ผ ฝ ศ ษ ส และ ห 
  • อักษรต่ำ เป็นพยัญชนะที่มีเสียงวรรณยุกต์เป็นเสียงสามัญเช่นเดียวกับอักษรกลาง แต่มีหลักการผันวรรณยุกต์ที่แตกต่างกัน มี 24 ตัว ได้แก่ ค ฅ ฆ ง ช ซ ฌ ญ ฑ ฒ ณ ท ธ น พ ฟ ภ ม ย ร ล ว ฬ และ ฮ ซึ่งได้แบ่งอักษรต่ำเป็นอักษรต่ำคู่ กับอักษรต่ำเดี่ยว ดังนี้
               อักษรต่ำคู่ คืออักษรต่ำที่มีเสียงคู่กับอักษรสูง มี 14 ตัว 7 เสียง ได้แก่ค, ฅ, ฆ (ข,ฃ) ช, ฌ (ฉ) ซ (ศ, ษ, ส) ฑ, ฒ, ท, ธ (ฐ, ถ) พ, ภ (ผ) ฟ (ฝ) และ ฮ (ห)
               อักษรต่ำเดี่ยว คืออักษรต่ำที่ไม่มีเสียงคู่กับอักษรสูง มีทั้งสิ้น 10 ตัว ได้แก่ง, ญ, ณ, น, ม, ย, ร, ล, ว และ ฬ
     คำเป็น คำตาย
     คำเป็น คือคำที่ประสมสระเสียงยาวในแม่ ก กา และคำที่อยู่ในแม่กง แม่กน แม่กม แม่เกย และแม่เกอว
     คำตาย คือคำที่ประสมสระเสียงสั้นในแม่ ก กา และคำที่อยู่ในแม่กก แม่กด และแม่กบ

การผันอักษรกลาง อักษรสูง และอักษรต่ำ

  • อักษรกลาง
     อักษรกลาง พื้นเสียงเป็นเสียงสามัญ ผันได้ครบทั้ง ๕ เสียง คือ ผันด้วยวรรณยุกต์เอกเป็นเสียงเอก ผันด้วยวรรณยุกต์โทเป็นเสียงโท ผันด้วยวรรณยุกต์ตรีเป็นเสียงตรี ผันด้วยวรรณยุกต์จัตวาเป็นเสียงจัตวา เช่น
     แต่ถ้าเป็นคำตาย จะผันได้แค่ ๔ เสียง คือ เสียงเอก เสียงโท เสียงตรี และเสียงจัตวา เช่น
  • อักษรสูง
     อักษรสูง พื้นเสียงเป็นเสียงจัตวา ผันด้วยวรรณยุกต์เอกเป็นเสียงเอก ผันด้วยวรรณยุกต์โทเป็นเสียงโท เช่น
     แต่ถ้าเป็นคำตาย จะผันได้แค่ ๒ เสียง คือ เสียงเอก และเสียงโท เช่น

  • อักษรต่ำ 
     อักษรต่ำ พื้นเสียงเป็นเสียงสามัญ ผันด้วยวรรณยุกต์เอกเป็นเสียงโท ผันด้วยวรรณยุกต์โทเป็นเสียงตรี เช่น



-----------------------------------------------